
อยากโชคดี ต้องทำยังไง เรามีวิธีจาก “กฎ 3 ข้อ ของการผลิตโชค ด้วยตัวคุณเอง (Hustle)” มาฝาก หลักการในหนังสือเล่มนี้เป็นอะไรที่เราชอบมาก ถึงขนาดเอามาตั้งชื่อเว็บไซต์ (PoisonSoup) เพราะเข้าใจง่าย ใครๆ ก็ทำตามได้เลย
จริงๆ วิธีผลิตโชคของเค้าคือการลงมือทำ โดยยึดหลัก 3 ข้อ คือ
- เลือกทำสิ่งที่อยากทำ
- กล้าเสี่ยง
- สร้างโอกาส
หนังสือไม่ได้วางเนื้อหาตามกฎ 3 ข้อนี้ซักเท่าไหร่ แต่ก็มีวิธีคิดหลายอย่างที่เจ๋งมากอยู่ดีครับ
ภาพรวม
ความฝันอยู่ไกล ชีวิตอยู่กับที่ ทำไงดี? ใครมีคำถามแบบนี้ หนังสือเล่มนี้แหละใช่เลย มาดูวิธีแก้ปัญหากันครับ
- แค่ลงมือทำ เงินทอง สิ่งที่มีความหมายกับชีวิต และแรงเหวี่ยงที่จะพาเราไปหาสิ่งใหม่ๆ จะตามมาเอง
- เราเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตัวเองได้แน่นอน แค่บิดวิถีชีวิตของเราเล็กน้อย ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่โต
- สิ่งที่หลายคนพลาด คือ เราวิ่งหนีความล้มเหลว แทนที่จะวิ่งหาความสำเร็จ ทำให้ไม่เห็นความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่
- คิดถึงชีวิตที่คุณอยากเป็น ไม่ใช่ชีวิตที่เป็นอยู่
หนังสือแบ่งทางแก้ออกเป็น 3 หัวข้อ เริ่มจาก หัวใจ สมอง และสุดท้ายคือ นิสัย
หัวใจ
- อย่าเอาแต่ทำตามความฝันของคนอื่น จนลืมความฝันของเราเอง
- ความฝันเป็นอะไรก็ได้ เช่น อยากเลื่อนตำแหน่ง เขียนหนังสือซักเล่ม ขายเสื้อผ้าเอง อยากทำประโยชน์ให้ส่วนรวม
- คุณต้องเลือกเอง ไม่งั้นคนอื่นจะเลือกให้คุณ
- คนส่วนใหญ่เลือกทางง่ายๆ ที่เจอแรงต้านน้อยที่สุด (คือทำง่ายที่สุด) แล้วจบลงด้วยการช่วยทำความฝันของคนอื่น โดยไม่เคยคิดว่าอะไรน่าจะดีที่สุดสำหรับตัวเอง
- การเป็นเจ้าของความฝัน คือ การทำอย่างสุดความสามารถ แน่วแน่ ไม่กลัวผลที่จะตามมา พร้อมแก้ไขข้อผิดพลาดระหว่างทางไปเรื่อยๆ
- สุดท้าย แค่มีฝันไม่พอ ต้องลงมือด้วย
ไม่รู้ว่าความฝันคืออะไร
- มีคนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าความฝันของตัวเองคืออะไร (และชีวิตก็สงบสุขดี – อย่างแฟนผมเป็นต้น) ซึ่งถ้าคุณโอเคอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องตามหาความฝันก็ได้ครับ แต่ถ้าคุณยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆ แล้วคุณชอบอะไร แต่อยากมีความฝันกับเค้าบ้าง ข่าวดีคือ คุณยังไม่จำเป็นต้องรู้ 100% ก็ได้ว่าชอบอะไร แต่ให้ลงมือทำอย่าหยุด
- เคล็ดลับคือ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้เราเริ่มต้นเมื่อไหร่ก็ได้
ความเสี่ยง
- การไม่ลงมือทำและการหนีความล้มเหลวจะทำลายตัวเอง เพราะการหนีความล้มเหลวไม่ใช่เป้าหมายที่ทำได้จริง
- การไม่เสี่ยงทำให้เราต้องรับความเสี่ยงแฝง การย่ำอยู่ที่เดิมทำให้เราเสียอะไรไปบ้าง เช่น งานอาจไม่มั่นคงอย่างที่คุณคิด
- ให้ตั้งเป้าหมายถึงเรื่องที่อยากทำ โดยแบกความเสี่ยงขนาดพอรับไหว
- สิ่งที่ชีวิตต้องมีมากขึ้น = RISK คือความเสี่ยงนั่นเอง (เน้นอีกครั้ง ว่าต้องเป็นความเสี่ยงเท่าที่เรารับไหว)
- สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นเมื่อเราเสี่ยงมากพอ
วงจรความห่วย
- การไม่ยอมลงมือทำอะไรที่ต่างจากเดิม จะทำให้เราติดอยู่ในวงจรความห่วย ทำงานดาดๆ เกิดผลงานดาดๆ ไม่เตะตาใคร ทำให้เกิดเส้นทางอาชีพพื้นๆ แล้วก็วนกลับไปทำงานดาดๆ อีกรอบ แล้วก็วนไปไม่รู้จบ
การค้นหาความสามารถที่แท้จริง
- ลงมือทำสิ่งที่ทำให้คุณตื่นเต้น หรือทำให้มีชีวิตชีวาเป็นประจำ อย่ามัววางแผน อย่าวางแผนว่าจะวางแผน แล้วความสามารถใหม่ๆ จะเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว
- ถ้ายังไม่แน่ใจ จะลองใช้วิธีของ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ก็ได้ครับ คือ
- ก่อนเริ่มโครงการหรือโปรเจคใหม่ ให้จดว่าคุณคาดหวังอะไรบ้าง หลังจากจบโครงการก็บันทึกว่าสำเร็จหรือล้มเหลว อะไรที่คุณทำได้ดี อะไรที่ไม่ได้เรื่อง อะไรที่ทำได้ทั้งๆ ที่คิดว่าจะทำไม่ได้
- การจดบันทึกเป็นประจำ จะทำให้จุดแข็งกับจุดอ่อนของคุณก็จะค่อยๆ เผยออกมา วิธีนี้ต้องใช้เวลา แต่จะคุ้มค่าแน่นอน หลังจากเจอแล้วก็ขัดเกลาจุดแข็งนั้นให้ดีขึ้นอย่างเต็มที่
การไล่ตามความสมบูรณ์แบบ และการพยายามสุดขีดที่จะหลีกเลี่ยงความล้มเหลว ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ และวนอยู่ในวังวนเดิมๆ กว่าจะรู้ตัวเวลาก็ผ่านไปอีก 1 ปี สิ่งที่เราต้องทำคือก้าวไปข้าวหน้า ถึงอะไรๆ จะบกพร่อง จะวุ่นวาย ก็ต้องก้าวออกไป
สมอง
ยอมรับความเจ็บปวดปริมาณน้อยๆ
- ยินดีรับความเจ็บปวด (ความเสี่ยง ความผิดหวัง) ปริมาณน้อยๆ จะทำให้เราเก่งขึ้น เหมือนออกกำลังกาย ที่กล้ามเนื้อเจ็บปวด แต่ทำให้เราแข็งแรงขึ้น
- วิธีการคือให้ลองทำสิ่งที่เราอึดอัดใจเล็กๆ น้อยๆ ถ้าคุณไม่ชอบพูด ให้ลองจากพูดอวยพรเพื่อนสั้นๆ แค่ 15 วินาทีก็พอ ถ้าแค่นั้นทำให้คุณตื่นเต้นแล้วนั่นแหละดี ทำซ้ำๆ แล้วคุณจะค่อยๆ เก่งขึ้น
ประโยชน์จากการทรมานสมอง
ความสามารถในการปรับตัวของสมอง (Neuroplasticity) จะเกิดเมื่อได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ เช่น เรียนภาษาใหม่ ฝึกทักษะใหม่ๆ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ทำอะไรใหม่ๆ หรือแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
ลองถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งเล็กน้อยที่สุด ที่จะทำได้เพื่อฝึกสมอง ซึ่งต้องน่ารำคาญหรือแปลกหน่อยๆ และได้ประโยชน์ หรือมีความหวังในบางมุม เช่น
- ลองโยคะวันละ 5 นาที
- ลองหาบางอย่างที่เป็นข้อดีของคนที่เราเกลียด แล้วชมอย่างจริงใจ
- ลองให้พนักงานร้านอาหารเลือกเมนูให้คุณมั่วๆ
- ลองเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน
- หัดดูหนัง หรือทำอะไรคนเดียวในบางวัน
- เดินเล่นแถวบ้าน แล้วพยามมองหาสิ่งสวยงาม
ประเด็นคือ ไม่ใช่ลงโทษหรือปฏิเสธตัวเอง แต่เป็นการค่อยๆ กระตุ้นให้เราเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โชคดี 4 ประเภท
โชคดีมี 4 แบบ แค่ขยับตัว ลงมือทำ เราก็จะเก็บเกี่ยวดวงดีๆ ได้มากกว่าคนทั่วไป
- บังเอิญโชคดี ดวงล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับความสามารถใดๆ
- โชคจากการช่วงชิง เกิดจากการขยับตัวและลงมือทำ เมื่อเราเลิกอยู่นิ่งๆ แล้วทำอะไรไปเรื่อยๆ ก็อาจจะมีโชคเกิดขึ้น เช่น ผู้เขียน (นีล พาเทล) สุ่มชวนคนในลิฟต์คุยบ่อยๆ จนได้งาน ถ้าเค้าไม่ลองชวนคุย ก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น
- โชคแบบแอบแฝง เป็นโชคที่เข้ามาแล้วแอบเดินออกไปทุกวัน คนที่ไม่เคยฝึกฝน ไม่เตรียมพร้อม และไม่เคยหาข้อมูลจะมองไม่เห็นมัน
- โชคแบบพลิกผัน โชคแบบนี้เกิดจากพฤติกรรมประหลาดๆ เฉพาะตัว ถ้าคุณมีนิสัยแปลกๆ จงยอมรับตัวเองว่าต่างจากคนอื่นยังไง แล้วเอามันออกมาให้โลกเห็น – ไม่ใช่คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จแม้มีนิสัยประหลาด แต่นิสัยประหลาดๆ ต่างหากทำให้เค้าประสบความสำเร็จ
สุดท้ายคือลงมือทำไปเรื่อยๆ โชคดีจะเข้ามาเอง ไม่ต้องใส่ใจว่าจะตีโดนลูกรึเปล่า แค่ตั้งหน้าตั้งตาตีมันเข้าไป ไม่ต้องสนใจความล้มเหลว ให้ทำ ทำ ทำ ทำ
อยากโชคดี ต้องทำยังไง
กฏ 3 ข้อ ที่จะทำให้คุณโชคดีขึ้น
- ทำสิ่งที่คุณอยากลงมือทำจริงๆ แรงขับดันอาจจะมาจากอารมณ์ทางบวกหรือทางลบก็ได้ เช่น ความหงุดหงิดว่าทำไมถึงเลี้ยงลูกแบบผิดๆ หรือความเจ็บใจที่ไม่มีใครรับเข้าทำงาน แต่ต้องระวัง อย่าทำตามสิ่งที่ใจรัก เพราะ…
- สมมุติว่าคุณอยากเปิดร้านเบเกอรี่เพราะชอบทำขนม แต่เอาเข้าจริงมันจะมีเรื่องต้นทุน กำไร การบริหารสินค้า มีเรื่องการจ้างพนักงานเข้ามาอีก ซึ่งอาจจะเป็นงานที่คุณเกลียดเลยก็ได้
- สิ่งที่ใจรักเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ความชอบของคุณในตอนนี้จะเปลี่ยนไปในอนาคต และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต จึงไม่ควรให้ความหลงไหลที่อยู่ชั่วคราวมาบงการหน้าที่การงาน
- หนังสือเล่มนี้เชื่อว่า สิ่งที่ไม่ค่อยเปลี่ยนคือความสามารถเฉพาะตัวที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด คุณต้องลองทำหลายๆ อย่าง พาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดที่ไม่คุ้นเคย เพื่อหาความสามารถนั้นให้เจอ เมื่อเจอแล้วให้ทุ่มพัฒนาความสามารถนั้นเป็นเท่าตัว
- การหาและพัฒนาความสามารถ จะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบ
- เชิดหน้าและลืมตาไว้ การมองทะลุถึงโอกาสที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะส่งคุณไปหาเป้าหมายได้เร็วขึ้น ต้องมองไม่เหมือนคนอื่น ตรงไหนที่คนอื่นมองว่าเป็นอุปสรรค์ คุณต้องมองให้เห็นโอกาส
- ปิดดีลให้ได้จริง
- การปิดดีลไม่ได้หมายถึงปิดการขายมหาศาลเสมอไป แต่ต้องเป็นข้อผูกมันที่เป็นรูปธรรม เช่น
- เขียนหนังสือ 10000 คำใน 10 วัน
- ขายของให้ได้ 1 ชิ้น
- Live สดวันละตอน เป็นต้น
- ถ้าไม่มีขั้นตอนนี้เท่ากับเรายังไม่ได้ลงมือ
- การปิดดีลเท่านั้นที่จะทำให้ทักษะที่คุณสนใจพัฒนาขึ้นได้ และจะทำให้นิสัยของคุณค่อยๆ เปลี่ยนไป พอนิสัยเปลี่ยน อัตลักษณ์ใหม่ๆก็จะเกิดขึ้น
- การปิดดีลไม่ได้หมายถึงปิดการขายมหาศาลเสมอไป แต่ต้องเป็นข้อผูกมันที่เป็นรูปธรรม เช่น
เดินอ้อมก็ได้ ไม่เป็นไร
ทุกคนมีความสามารถพิเศษ ทักษะ และประสบการณ์ต่างกัน หมายความว่าทุกคนมีเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเอง การพยายามทำตามคนอื่นมีแต่จะทำให้รู้สึกว่าเค้าเก่งกว่า ฉลาดกว่า แต่นั่นเพราะคุณไม่ได้ฝ่าฟันด้วยความสามารถของตัวเอง และทักษะที่ฝึกมาของคุณต่างหาก
นิสัย
เปลี่ยนจากความฝันลมๆ แล้งๆ ให้เป็นจริง ด้วยกฏ 3 ข้อ
- ทำสิ่งที่อยากทำ ช่วยให้มีความกระตือรือร้น และตื่นเต้น อย่างกังวลกับสิ่งที่หลงไหลมากนัก เพราะมันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แค่เริ่มลงมือทำ
- เชิดหน้าและลืมตาไว้ โอบรับความเสี่ยงและมองหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ แค่โชคเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้ไปไกลแล้ว
- ปิดดีลให้ได้จริง กำหนดเป้าหมายแล้วทำให้สำเร็จจริง เป้าหมายอาจไม่ใหญ่มากก็ได้ การทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ จะค่อยๆ ทำให้นิสัยของเราเปลี่ยนไปด้วย
กฏ 10 นาที
กฎ 10 นาที แทนที่จะเสียเวลาคิด ให้ลงมือทำเลย ทำซัก 10 นาทีแล้วค่อยประเมินผลก็ได้ ไม่ใช่ประเมินก่อน 10 นาที แล้วไม่ทำอะไรเลย
Personal Opportunity Portfolio
เรียนรู้ 4 สิ่งที่ส่งเสริมความก้าวหน้าของคุณ
- Potential
- People
- Project
- Proof
Potential
- ไม่ใช่เพราะอะไรๆ มันยากหรอกเราถึงไม่กล้าเสี่ยง เป็นเพราะเราไม่กล้าเสี่ยงต่างหากมันถึงยาก
- คุณต้องมีทักษะที่เป็นจุดแข็งในตัว เหมือนร้านอาหารที่มี Signature ไม่กี่จาน ส่วนเมนูอื่นอาจจะอร่อยบ้างไม่อร่อยบ้างปนๆ กันไป
- 4 ขั้นตอนสำหรับพัฒนาศักยภาพของตัวเอง
- ยอมรับว่าคนอื่นหรือตัวเราเองก็ไม่ได้รู้เรื่องความสามารถในตัวเองเป็นพิเศษ
- ทำโครงการต่างในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและมีชีวิตชีวา เพื่อให้ศักยภาพในตัวเราเผยออกมา
- วิเคราะห์และติดตามความก้าวหน้าของคุณ
- ลงทุนในจุดแข็งของตัวเองและมองข้ามจุดอ่อนไป
- คุณไม่ได้แข่งกับความสมบูรณ์แบบ แต่แข่งกับคนอื่นๆ เหมือนกันเรา
- แทนที่จะเสี่ยงแบบ ไม่รุ่งก็เจ๊งไปเลย ให้ลองเสี่ยงทีละเล็กทีละน้อยก่อน ลองคิดดูว่าด้านไหนบ้างของชีวิตที่เราจะลองเสี่ยงแบบเล็กๆ น้อยๆ ได้
- ลงมือทำไปเรื่อยๆ ผลจะออกมาดีหรือแย่ก็ไม่สำคัญ
People
- ผู้คนคือโอกาส ผู้คนคือตำแหน่งงาน ผู้คนคือบริษัท ผู้คนคือชีวิตของคุณ ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นที่คนและจบลงที่คน
- ถ้าไม่ถนัดเรื่องผู้คนก็ถึงเวลาทบทวนสมการทางสังคมของเราใหม่ นี่คือสิ่งที่ทำได้ตอนนี้
- กฎข้อแรกคือ คุณต้องการผู้คน และผู้คนก็ต้องการคุณ (เพราะคุณก็คือคนเหมือนกัน)
- เครือข่ายของคุณคือทรัพย์สินสุทธิ ไม่มีใครบรรลุความสำเร็จโดยลำพัง
- การสร้างเครือข่าย
- มีคน 2 แบบ
- นายหน้าที่จะเก็บผลประโยชน์จากการเชื่อมต่อคนสองคนให้เจอกัน และจะแนะนำคนสองคนให้เจอกันต่อเมื่อตัวเองมีผลประโยชน์เท่านั้น – คนแบบนี้จะมีพลังเมื่อคนสองฝ่ายไม่รู้จักกัน
- แบบที่สอง คือ ประสานความร่วมมือ และแนะนำให้คนรู้จักกันโดยหวังให้เกิดผลประโยชน์ขึ้นในกลุ่ม
- วิธีสร้างเครือข่ายที่ถูกต้อง คือ การเข้าหาคนโดยลืมสิ่งที่เราต้องการไปก่อน แต่ให้สนใจว่าอะไรคือความต้องการ หรืออุปสรรค์ของเค้า เราจะช่วยอะไรเค้าได้บ้าง
- เต็มใจแนะนำให้คนรู้จักกัน (ถ้าต่างฝ่ายต่างอยากรู้จักกัน)
- ทำตัวเองให้เป็นไหน้ำผึ้ง เน้นให้ประโยชน์คนอื่นก่อน แล้วไหน้ำผึ้งเล็กๆ ก็จะกลายเป็นชุมชนใหญ่ได้
- มีคน 2 แบบ
Project
- ถ้าอยากเติบโต ต้องทำโครงการเด็ดๆ ถ้ามีโอกาสก็พุ่งเข้าใส่เลย ถ้าไม่มีก็คิดโครงการเองซะเลย
- โครงการ 3 ประเภท
- งานหลัก (เข้างานตอนเช้า เลิกงานตอนเย็น) งานประจำนั่นแหละครับ ถ้าไปได้สวยก็ทำมันไปเรื่อยๆ
- งานทดลองและโครงการพิเศษ (เริ่มตอนเย็น เลิกตอนเช้า) เป็นงานที่ใช้หัดรับความเสี่ยงเล็กๆ น้อยๆ พยายามค้นหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ให้พบ และต้องมีเป้าหมายชัดเจนในใจ
- การทดลองง่ายๆ ลองเขียนเมลให้สั้นลง ดูซิว่าจะเกิดอะไรขึ้น
- ทดลองการใช้คำศัพท์เชิงบวก และมองโลกในแง่ดีล้วนๆ
- ลองเพิ่มเวลานอน
- ลองลดชั่วโมงทำงาน
- ลองเขียน e book
- ลองเปิดร้านขายของออนไลน์
- ลองสอนออนไลน์
- โครงการเพิ่มคุณค่าให้ชีวิต (วันหยุด / ยามว่าง) ไม่จำเป็นต้องสร้างเงินให้คุณ แต่เป็นการเติมความคิดสร้างสรรค์ การศึกษา จิตวิญญาณ พัฒนาตัวเอง ถ้าโครงการหลักหรือโครงการพิเศษไม่ได้ช่วยให้คุณทำสิ่งที่มีความหมายกับคุณ ก็ต้องใช้โครงการแบบนี้ช่วย เช่น
- ฝึกงานด้านที่สนใจกับผู้เชี่ยวชาญ
- อาสาทำงานกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
- ทำงานช่วยเหลือสังคมมนด้านที่คุณสนใจ
Proof
- เมื่อมองหางานที่อยากทำ ต้องพิสูจน์ให้เห็น แสดงหลักฐาน และพิสูจน์ด้วยการทำบางอย่าง (โครงการของคุณไง)
- ถ้าอยากโชคดีต้องกล้าเสียงให้มากขึ้น กล้าผจญภัย และมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ต้องอยู่ในระดับที่คุณรับได้
- หลักฐานที่ดีควรเป็นยังไง
- หาเจอได้ง่าย
- ประกอบด้วยงานที่คุณทำสำเร็จ รางวัลต่างๆ รวมงานอดิเรกด้วยนะ
- ประวัติส่วนตัวบนโลกออนไลน์ อัพเดทอย่างน้อยปีละครั้ง
- ทำอะไรที่เป็นตัวของตัวเอง
เงินทอง VS ความหมายของชีวิต
- เงินไม่ได้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง และสิ่งที่เราคิดว่ามีความหมายก็ไม่ได้ช่วยเติมเต็มเสมอไป
- ถ้าคิดถึงเงินทองมากไป แต่ไม่มีความหมายกับชีวิต จะทำให้เราสงสัยว่าทำไมถึงทำสิ่งนั้นอยู่ แต่ถ้าไม่สนใจเงินทอง เราก็อยู่ไม่ได้เหมือกัน
- แบบฝึกหัดเพื่อเพิ่มความหมายให้ชีวิต
- จัดการทุกสถานการณ์และปฏิสัมพันธ์ด้วยความเมตตา เอื้อประโยชน์ทางบวกให้แก่คุณและอีกฝ่าย
- ฝึกสมาธิ เล่นโยคะ รับรู้ ปล่อยวาง ฝึกการอยู่กับตัวเองวันละ 20 นาที
- หัดขอบคุณในยามปกติที่คุณจะไม่เอ่ยปาก ยอมรับคำชมของคนอื่นด้วยรอยยิ่มและแววตา
- ใช้เวลากับคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ ขยายแวดวงสังคมของคุณให้กว้างขึ้น คุณไม่มีทางรู้ว่าการสานความสัมพันธ์อาจนำโอกาสมาให้อย่างเหลือเชื่อ
สรุป
- ให้คิดถึงชีวิตที่คุณอยากเป็น ไม่ใช่ชีวิตที่เป็นอยู่ แล้วทบทวนว่าตัวเองใช้เวลา และพลังงานยังไงในแต่ละวัน สอดคล้องกับคนชีวิตที่คุณอยากเป็นรึเปล่า
- อยากโชคดี ต้องทำยังไง? ทางเดียวคือ การลงมือทำ กล้าเสี่ยง และค้นหาโอกาส แล้วจะมีโชคอย่างคาดไม่ถึง
- วิธีที่ทำให้คนหมดไฟเร็วที่สุด คือ ลงมือแบบบ้าระห่ำ ดังนั้นคุณควรจะ
- หาเวลาหลุดจากตาราง
- แน่ใจว่าได้พักผ่อน หรือหยุดยาว
- แน่ใจว่าจะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างน้อย 1 อย่าง ที่ทำให้หลุดพ้นจากประสบการณ์เดิมๆ – เพื่อให้สมองจัดระเบียบการรับรู้เสียใหม่
- แบ่งเวลา 10% – 20% ในแต่ละอาทิตย์ไว้คิดสร้างสรรค์ โดยไม่ทำงานอื่น
- ความสมบูรณ์แบบไม่เคยเป็นจุดหมายของการทำงานและชีวิต
- กระบวนการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่คุณเป็นในวันนี้ไปสู่สิ่งที่คุณเป็นในวันหน้าต้องอาศัยเวลา และมันไม่มีทางจบสิ้น และคุณจะต้องลงมือทำไปเรื่อยๆ
กฎ 3 ข้อ ของการผลิตโชค ด้วยตัวคุณเอง (Hustle)
ผู้เขียน: นีล พาเทล, แพทริก วลาสโควิตส์, โจนาส คอฟเฟลอร์
ผู้แปล: นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี
สำนักพิมพ์: Amarin How To

กิตติ์ธเนศ เพชรไวกูณฐ์ นักออกแบบเกมที่สนใจเรื่องการพัฒนาตัวเอง การฝึกสติ สมาธิ การเดินทางและของกิน! ปัจจุบันเป็นเจ้าของเว็บไซต์ หมีเป็ด